๘.๔.๕๒

วง คีรีบูน

วงดนตรีที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดให้กับ อาร์.เอส.ซาวด์ (อาร์เอสในปัจจุบัน) ในยุคแปดศูนย์ มีแฟนเพลงคอยติดตามซื้อผลงาน ดูคอนเสิร์ต มากที่สุด (เทียบกับทุกวงในรุ่นจากค่ายเดียวกัน) จนถึงปัจจุบันแฟนเพลงก็ยังเฝ้ารอให้มีคอนเสิร์ตรียูเนียนแบบเต็มรูปแบบสักครั้ง พวกเขาคือวงดนตรีที่เรียกตัวเองว่า คีรีบูน ต้นสังกัดตั้งชื่อให้ในเดือนพฤษภาคม 2526 ในขณะนั้น อาร์.เอส.ซาวด์ เปิดบริษัทมาได้สองปีโดยก่อนหน้านี้เฮียจั๊ว (เกรียงไกร เชษฐโชติศักดิ์) ทำธุรกิจด้านเทปเพลงอยู่ก่อนแล้วในชื่อโรสซาวด์และมาเปลี่ยนชื่อในปี 2525 โดยทำวง "อินทนิล" เป็นวงแรก ได้รับความสำเร็จเป็นที่รู้จักประมาณหนึ่ง เข้าปี 2526 อาร์.เอส..ซาวด์ เริ่มรุกหนักระดมหาวงสตริงเข้าสังกัดหลายวงทั้งวงที่เล่นอาชีพอยู่แล้วเช่น "ฟรุ๊ตตี้" "บรั่นดี" และวงวัยรุ่นหน้าใหม่ที่มีแววปั้นได้งานเพลงตัวอย่างของคีรีบูนได้รับการนำไปเสนอกับทาง อาร์.เอส.ซาวด์ ทางเฮียจั๊วพอใจจึงให้เริ่มบันทึกเสียงแบบสายฟ้าแลบ ที่มาของเดโม่เกิดจากอ๊อดซึ่งมีความมุ่งมั่นจะเอาดีในวงการนี้ควบคู่ไปกับการเรียน เขาได้รับอิทธิพลทั้งจากวงชาตรีและวงอิสซึ่นโดยคุณพ่อให้การสนับสนุน เครื่องดนตรีที่เล่นชิ้นแรกคือกลองและเปลี่ยนมาเล่นกีต้าร์ในภายหลัง เมื่อรายการวิทยุ "สบายใจยามบ่าย" จัดประกวดโฟลค์ซองโดยให้ผู้สมัครส่งเทปเข้าไปในรายการเพื่อคัดเลือกมาประกวดในรอบสุดท้ายอีกที อ๊อดแต่งเพลง "หากรัก" และ "แม่จ๋า" เข้าไปในรายการเพื่อหวังเงินรางวัลสองหมื่นมาเป็นทุนในการบันทึกเสียงงานวงดนตรีของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า "อัญชา" ซึ่งรวมตัวกันมาตั้งแต่ ม.ศ.2 วงนี้เคยเข้าประกวดรายการวันดวลเพลงที่จัดโดย ว.ค.บ้านสมเด็จและได้ลำดับที่สามมา โดยสมาชิกของวงอัญชาในขณะนั้นนอกจากอ๊อดแล้วที่เหลือไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงคีรีบูนในภายหลัง ผู้คัดเลือกเพลงได้ฟังเสียงของอ๊อดจึงนำไปเสนอค่ายและได้รับการชักชวนให้บันทึกเสียงในทันที ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงรอยต่อของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมาชิกดั้งเดิมเลือกทางเดินด้านการเรียนมากกว่าเหลืออ๊อดซึ่งสอบติดเศรษฐศาสตร์-จุฬา ไม่ละทิ้งความฝันรวบรวมหาสมาชิกใหม่จนได้ไลน์อัพชุดแรกและอาร์.เอส.ก็ตั้งชื่อให้ใหม่คือคีรีบูนซึ่งน่าจะทำการตลาดได้ง่ายกว่าชื่อวงเดิม"หากรัก" เทปชุดแรกเหมือนม้าตีนปลายออกสตาร์ทแบบช้าๆ แฟนเพลงได้ฟังเพลงรวมถึงได้ดูวิดีโอโปรโมทกันอยู่หลายเดือนเพลงถึงเริ่มติด คีรีบูนได้รับรางวัลวงดนตรีหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากการสำรวจของนิตยสารโดเรมีจากแบบสอบถามกว่าสามหมื่นฉบับ เฮียจั๊วไม่รอช้าให้ทางวงทำเทปชุดที่สองตามออกมาทันทีในชุด "รอวันฉันรักเธอ" เทปชุดนี้ขายดีตลอดทั้งปี 2527 จุดเด่นคือนำเพลงเก่าอย่าง "ปลูกรัก" มาเรียบเรียงในแบบอคูสติคผนวกเข้ากับเสียงร้องของอ๊อดทำให้เป็นเพลงที่ฟังได้เรื่อยๆ แทร็คที่โดดเด่นที่สุดคือไทเทิ้ลแทร็คจากการแต่งของอ๊อด "รอวันฉันรักเธอ" เป็นเพลงขึ้นทำเนียบเพลงรักคลาสสิคจากยุคแปดศูนย์ไปแล้ว เพลงอื่นๆอยู่ในเกณฑ์ดีทุกเพลงเมื่อเทียบกับมาตรฐานเพลงป๊อปในช่วงเวลานั้นสมาชิกของคีรีบูนบางส่วนถูกวางตัวให้อยู่ในโปรเจคท์เพลงคู่ "รวมดาว" เทปชุดนี้เกื้อกูลชื่อเสียงให้คีรีบูนเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นไปอีก ปี 2528 เทปชุดที่สาม "เพื่อน" ออกขายทางวงยังรักษาระดับความสำเร็จเอาไว้ได้แต่ตัวงานไม่ได้ฉีกไปจากเดิม ทางวงมีการเปลี่ยนสมาชิกโดยได้ต๋องเข้ามาแทนที่โหน่งในตำแหน่งเบสและออกงานชุด "เพียงก่อนนั้น" ในปี 2529 จากนั้นทางอาร์.เอส.ให้อ๊อดออกงานเดี่ยวเพื่อตามกระแสการเปลี่ยนความนิยมจากวงดนตรีประเภทสตริงมาเป็นศิลปินเดี่ยว อันเนื่องมาจากการออกงานเดี่ยวของ แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ ในขณะนั้นซึ่งประสบความสำเร็จมาก "ตลอดกาล" เป็นงานชุดท้ายออกมาในปี 2530 เป็นงานที่อ่อนลงอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นอาร์.เอส.ก็ให้น้ำหนักในการผลักดันการเป็นนักร้องเดี่ยวของอ๊อดมากกว่าแนวเพลงของ คีรีบูน เป็นแบบฟังเพราะๆ ฟังง่ายๆ คอร์ดเล่นตามไม่ยาก จึงเข้าถึงผู้ฟังได้ง่ายรวมถึงวัยรุ่นที่เพิ่งหัดเล่นกีต้าร์และเพิ่งตั้งวงก็มักจะแกะเพลงของคีรีบูนเล่นกัน เรียกได้ว่าพวกเขาเป็นวงรุ่นที่สองต่อจากวงชาตรีที่มีอิทธิพลต่อการเริ่มเล่นดนตรีของวัยรุ่นไทยในยุคนั้น จำได้ว่าวงดนตรีของเพื่อนผู้เขียนตอนตั้งวงแรกๆ ก็จะเล่นแต่เพลง "โอ้นกน้อย" ซ้ำไปซ้ำมาเล่นกันจนมีทักษะขึ้นถึงเขยิบไปแกะเพลงของอื่นๆเล่นบ้าง
แหล่งข้อมูล: oknation.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น